วันพฤหัสบดีที่ 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552

DTS 07-05-08-2552

Queue

คิวเป็นโครงสร้างข้อมูลแบบลำดับ (Sequential) ลักษณะของคิวเราสามารถพบได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การเข้าแถวตามคิวเพื่อรอรับบริการต่างๆ ลำดับการสั่งพิมพ์งาน เป็นต้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าลักษณะของการทำงานจะเป็นแบบใครมาเข้าคิวก่อน จะได้รับบริการก่อน เรียกได้ว่าเป็นลักษณะการทำงานแบบ FIFO (First In , First Out)

ลักษณะของคิว จะมีปลายสองข้าง ซึ่งข้างหนึ่งจะเป็นช่องทางสำหรับข้อมูลเข้าที่เรียกว่า REAR และอีกข้างหนึ่งซึ่งจะเป็นช่องทางสำหรับข้อมูลออก เรียกว่า FRONT


ในการทำงานกับคิวที่ต้องมีการนำข้อมูลเข้าและออกนั้น จะต้องมีการตรวจสอบว่าคิวว่างหรือไม่ เมื่อต้องการนำข้อมูลเข้า เพราะหากคิวเต็มก็จะไม่สามารถทำการนำข้อมูลเข้าได้ เช่นเดียวกัน เมื่อต้องการนำข้อมูลออกก็ต้องตรวจสอบด้วยเช่นกัน ว่าในคิวมีข้อมูลอยู่หรือไม่ หากคิวไม่มีข้อมูลก็จะไม่สามารถนำข้อมูลออกได้เช่นกัน

การเพิ่มข้อมูลเข้าไปในคิว

การจะเพิ่มข้อมูลเข้าไปในคิว จะกระทำที่ตำแหน่ง REAR หรือท้ายคิว และก่อนที่จะเพิ่มข้อมูลจะต้องตรวจสอบก่อนว่าคิวเต็มหรือไม่ โดยการเปรียบเทียบค่า REAR ว่า เท่ากับค่า MAX QUEUE หรือไม่ หากว่าค่า REAR = MAX QUEUE แสดงว่าคิวเต็มไม่สามารถเพิ่มข้อมูลได้ แต่หากไม่เท่า แสดงว่าคิวยังมีที่ว่างสามารถเพิ่มข้อมูลได้ เมื่อเพิ่มข้อมูลเข้าไปแล้ว ค่า REAR ก็จะเป็นค่าตำแหน่งท้ายคิวใหม่


การนำข้อมูลออกจากคิว

การนำข้อมูลออกจากคิวจะกระทำที่ตำแหน่ง FRONT หรือส่วนที่เป็นหัวของคิว โดยก่อนที่จะนำข้อมูลออกจากคิวจะต้องมีการตรวจสอบก่อนว่ามีข้อมูลอยู่ในคิวหรือไม่ หากไม่มีข้อมูลในคิวหรือว่าคิวว่าง ก็จะไม่สามารถนำข้อมูลออกจากคิวได้


คิวแบบวงกลม (Circular Queue)

คิวแบบวงกลมจะมีลักษณะเหมือนคิวธรรมดา คือ มีตัวชี้ FRONT และ REAR ที่แสดงตำแหน่งหัวคิวและท้ายคิวตามลำดับ โดย FRONT และ REAR จะมีการเลื่อนลำดับทุกครั้งเมื่อมีการนำข้อมูลเข้าและออกจากคิว แต่จะแตกต่างจากคิวธรรมดาก็คือ คิวธรรมดาเมื่อ REAR ชี้ที่ตำแหน่งสุดท้ายของคิว จะทำให้เพิ่มข้อมูลเข้าในคิวอีกเมื่อไม่ได้ เนื่องจาก ค่า REAR=MAX QUEUE ซึ่งแสดงว่าคิวนั้นเต็ม ไม่สามารถเพิ่มข้อมูลเข้าไปได้อีก ทั้งๆ ที่ยังมีเนื้อที่ของคิวเหลืออยู่ก็ตาม ทำให้การใช้เนื้อที่ของคิวไม่มีประสิทธิภาพ



จากรูป แสดงคิวที่ค่า REAR ชี้ที่ตำแหน่งสุดท้ายของคิว ทำให้ไม่สามารถนำข้อมูลเข้าได้อีก
สำหรับคิวแบบวงกลม จะมีวิธีจัดการกับปัญหานี้ คือ เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเข้ามาในคิว ในลักษณะดังกล่าว คือ ขณะที่ REAR ชี้ตำแหน่งสุดท้ายของคิว ถ้าหากมีการเพิ่มค่าของ REAR REAR จะสามารถวนกลับมาชี้ยังตำแหน่งแรกสุดของคิวได้ ซึ่งจะทำให้คิวมีลักษณะเป็นแบบวงกลม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น